รู้จักกับจันทบุรีอัญมณีแห่งภาคตะวันออก
จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออก อันประกอบด้วย จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด เป็นจังหวัดที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่เกือบครึ่งของจังหวัดปกคลุมด้วยผืนป่าที่ชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งของน้ำตกน้อยใหญ่ เช่น น้ำตกพลิ้ว น้ำตกเขาสอยดาว น้ำตกกระทิง น้ำตกตรอกนอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและเกาะเล็กๆอีกหลายแห่ง ทั้งมีสินค้าพื้นเมืองขึ้นชื่อหลายอย่าง ได้แก่ ผลไม้ อัญมณี เสื่อจันทบูร ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ และเครื่องเทศต่างๆโดยเฉพาะพริกไทยที่ได้รับยกย่องว่าเป็นพริกไทยที่ดีที่สุดของประเทศ
จันทบุรีเป็นเมืองโบราณตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจ ในสมัยอยุธยามีฐานะเป็นหัวเมืองการค้าทางทะเล อยู่ในเส้นทางเดินเรือยุคการค้าเฟื่องฟู ดังพบหลักฐานซากเรือบรรทุกสินค้าจำพวกเครื่องถ้วยชามจำนวนมากในน่านน้ำอ่าวไทย
เมืองจันทบุรีมีกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานทั้งชาวจีนที่เข้ามาทำการค้า ชาวญวนที่อพยพหนีภัยสงครามมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และชาวชองซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเดิม ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมจนเป็นเอกลักษณ์
ด้วยสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุก ประกอบกับผืนดินอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุจากดินตะกอนปากแม่น้ำ จันทบุรีจึงปลูกผลไม้และพืชไร่หลายชนิดได้ผลดี เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ยางพารา พริกไทย มันสำปะหลัง ฯลฯ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้จังหวัดหลายพันล้านต่อปี นอกจากพืชผลก็ยังมีการทำประมงชายฝั่งบริเวณตอนใต้ของจังหวัด อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เช่น โรงงานผลไม้กระป๋อง โรงงานแปรรูปยางพารา โรงงานแปรรูปอาหารทะเลเป็นต้น
ในอดีตจันทบุรีเคยเป็นแหล่งอัญมณีแหล่งใหญ่ คนเมืองจันท์จึงมีความชำนาญในการเจียระไนพลอยและทำเครื่องประดับได้อย่างสวยงาม ส่งผลให้อัญมณีเป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีชื่อ เช่นเดียวกับเสื่อจันทบูร ซึ่งกลุ่มชาวญวนเป็นผู้บุกเบิกการทอ แล้วมีการประยุกต์รูปแบบให้ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาดยิ่งขึ้นในปัจจุบัน และด้วยคุณภาพและราคาที่ย่อมเยา เสื่อจันทบูรจึงเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นอันดับต้นๆ
ด้านอาหารการกิน นอกเหนือจากอาหารทะเลสด จันทบุรียังโดดเด่นด้วยอาหารพื้นบ้านที่ใส่เครื่องเทศรสร้อนแรงพวกกระวาน กานพลู ขมิ้น เร่ว ฯลฯ ผลไม้รสเลิศนานาชนิดก็เป็นของกินที่นักท่องเที่ยวติดอกติดใจ ปัจจุบันสวนหลายแห่งจึงเปิดให้เข้าชมและชิมผลไม้จากต้นกันเลย นับเป็นเสน่ห์ทางการท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน
ภาษาของเมืองจันท์ คำว่า"ฮิ"
ภาษาพูดของคนจันท์อยู่ในกลุ่มภาษาถิ่นไทยตะวันออก ซึ่งคล้ายกับภาษาไทยกลาง แต่มีภาษาถิ่นบางคำที่ใช้ต่างกัน และวิธีการออกเสียงสูง-ต่ำก็ต่างกัน เช่น ถ้าเป็นคำสองพยางค์ เช่น “กนก” ก็ออกเสียงเป็น “ก๊ะ-นก” ถ้าเป็นประโยคยาวๆเช่น “อย่าทำเอะอะ ประเดี๋ยวจะถูกกเตะ” คนเมืองจันท์จะพูดว่า “อย่าทำเอ๊ะอ๊ะ ปะเดี๋ยวทูกเต๊ะ”
หลายคนคงเคยได้ยินว่า คนเมืองจันท์มักลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “ฮิ” แท้จริงแล้วคนจันท์ลงท้ายประโยคว่า “สิ” ไม่ใช่ “ฮิ” เช่น “กินข้าวแล้วสิ (นะ) มาถึงตั้งนานแล้วสิ (นะ)” คนจันท์มักพูดเสียงสูงเมื่อคำลงท้ายเป็นคำตาย คำว่า “สินะ” ก็เลยกลายเป็น “เซี๊ยะ” หรือ “เฮี๊ยะ” พอพูดกันไปนานๆก็เกิดการกร่อนเสียงจนฟังดูคล้าย “ฮิ”
สภาพธรรมชาติของจันทบุรี
จันทบุรี มีภูเขาครอบคลุมพื้นที่หนึ่งในสี่ของจังหวัด ประกอบด้วยทิวเขาจันทบุรีโอบล้อมด้านเหนือและด้านตะวันออกเป็นแนวยาวตรงมาเชื่อต่อกับทิวเขาบรรทัดทางด้าน จ.ตราด ด้านตะวันออกมีเขาสอยดาวเหนือและเขาสอยดาวใต้ ด้านตะวันตกมีเขาชะมูลส่วนตอนกลางของจังหวัดมีเขาสระบาป เทือกเขาเหล่านี้ปกคลุมด้วยป่าดงดิบชื้นอันอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกและแม่น้ำลำคลองหลายสาย เช่น แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำเวฬุ แม่น้ำพงราด เป็นต้น
แม่น้ำส่วนใหญ่ในจันทบุรีไหลจากตอนเหนือลงสู่ทะเลอ่าวไทย ทำให้เกิดที่ราบลุ่มแม่น้ำหลายแห่งทั้งด้านตะวันตก ตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัด ผืนดินสองฝั่งแม่น้ำที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุจากดินตะกอนแม่น้ำจึงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี ไม่ว่าจะปลูกไม้ผลหรือพืชไร่ก็เจริญงอกงาม ทั้งทำเลที่ตั้งของเมืองจันท์ก็อยู่ติดกับอ่าวไทย จึงได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และพายุดีเปรสชันจากทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนตกชุกติดต่อกันถึง 6 เดือนเอื้อต่อการเพาะปลูก
จันทบุรีมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 108 กม. ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งประกอบอาชีพประมงและเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่เนื่องจากมีแม่น้ำหลายสายไหลออกทะเล ชายหาดเมืองจันท์จึงเต็มไปด้วยโคลนดินตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถมกัน ไม่มีหาดทรายขาวสะอาดเหมือน จ.ระยอง หรือ จ.ชลบุรี ที่อยู่ใกล้เคียง แต่หาดทรายสีน้ำตาลแดงของจันทบุรีบริเวณพื้นที่น้ำกร่อยนี้ ปกคลุมไปด้วยแนวป่าชายเลนถึง 9 หมื่นไร่เศษ ตั้งแต่อ่าวคุ้งกระเบน ปากน้ำแขมหนู ปากน้ำแหลมสิงห์ ไปจนจดปากแม่น้ำเวฬุในเขต อ.ขลุง จึงเป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ของสัตว์น้ำหลากหลายพันธุ์
นอกจากนี้ทรัพยากรสัตว์น้ำ จันทบุรียังมีทรัพย์ในดินเป็นแหล่งแร่รัตนชาติที่มีมูลค่าสูง เช่น ใน อ.ขลุง ที่บริเวณบ้านบ่อเวฬุ บ้านตกพรม และบ้านตะปอนน้อย พบพลอยแดง(ทับทิม) พลอยเขียว และพลอยน้ำเงิน ที่ อ.ท่าใหม่ และ ต.บางกะจะ อ.เมือง พบพลอยไพลิน บุษราคัม และมรกต เมื่อราว 30 ปีก่อนผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำเหมืองพลอยเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นธุรกิจใหญ่สร้างความเฟื่องฟูแก่เศรษฐกิจของจังหวัดอย่างมหาศาล แม้ปัจจุบันปริมาณพลอยจะลดลง แต่จันทบุรีก็ยังมีชื่อเสียงด้านการเจียระไนพลอย โดยมีแหล่งค้าพลอยใหญ่อยู่ในตัวเมือง
ประวัติความเป็นมาจันทบุรี
มีหลักฐานทางโบราณคดีหลายแห่งที่แสดงให้เห็นว่า จันทบุรีเคยเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคหินขัดอายุ 2,000 ปี ในเขต อ.โป่งน้ำร้อน อ.ท่าใหม่ และ อ.มะขาม ต่อเขตแดน อ.แกลง จ.ระยอง
ต่อมาในยุคประวัติศาสตร์ มีการค้นพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่ระบุถึงเมือง “จันทราบุรี” หรือ “ควนคราบุรี“ ที่เชิงเขาสระบาป ยุคขอมเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลมาถึงดินแดนแถบนี้ ดังปรากฏหลักฐานเป็นกำแพงศิลาแลงที่ชาวบ้านเรียกว่า “เพนียด” ศิลาจารึกภาษาขอม เศียรเทวรูป และทับหลังศิลปะขอม ที่วัดทองทั่วและวัดโบสถ์เมือง สันนิษฐานว่าโบราณวัตถุเหล่านี้น่าจะมีอายุระหว่างพุทธศตววรษที่ 11-12 ถึงพุทธศตวรรษที่ 15-16 หลังขอมเสื่อมอำนาจลง ชุมชนในจังหวัดจันทบุรีก็เป็นอิสระอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างเมืองอยุธยา “เมืองจันทบูร” หรือ จันทบุรีจึงตกเป็นหัวเมืองประเทศราชของอยุธยา
หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 หัวเมืองตะวันออกแห่งนี้ก็มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นฐานกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ เนื่องจากเมืองนี้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ไม่ได้รับความบอบช้ำจากสงคราม และยังเป็นแหล่งชุมชนชาวจีนแต่จิ๋วซึ่งเป็นคนเชื้อชาติเดียวกับพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงทรงเลือกเมืองจันทบุรีเป็นที่รวบรวมกำลังพลและเสบียงอาหารก่อนเข้าตีกลุ่มคนไทยที่แยกเป็นก๊กเป็นเหล่าได้ราบคาบ แล้วรวมพลไปช่วงชิงกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า
ช่วงต้นรัตนโกสินทร์จันทบุรีมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านและหัวเมืองการค้า เพราะตั้งอยู่ปากอ่าว สะดวกกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ สินค้าส่งออกที่ขึ้นชื่อ คือ พริกไทย กระวาน เรือสำเภา รวมถึงของป่าต่าง ๆ เช่น งาช้าง หนังสัตว์ ไม้ฝาง ฯลฯ ที่ได้จากผืนป่าในจันทบุรีและรับซื้อมาจากชาวญวนและเขมร โดยส่งไปจำหน่ายยังเมืองจีน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าจันทบุรีมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ หากข้าศึกล่วงล้ำมาจะเข้าถึงกรุงเทพฯได้ง่าย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจันทบุรีขึ้นใหม่ที่บ้านเนินวง พร้อมสร้างป้อมรบไว้สองป้อม แต่ก็ไม่มีศึกสงครามเกิดขึ้นแต่อย่างใด ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองกลับไปบ้านลุ่มเช่นเดิม ในรัชกาลเดียวกันนี้จันทบุรีได้ตกอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสชั่วระยะหนึ่ง เนื่องจากฝรั่งเศสเข้ายึดครองญวนและเขมรแล้วอ้างสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของไทย จึงเกิดกรณีพิพาทขึ้น ฝรั่งเศสได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ไทยยกดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศส และให้เสียเงินค่าปรับจำนวน 2 ล้านฟรังก์ โดยเข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันระหว่างปี พ.ศ. 2436 – 2447 เมื่อไทยปฏิบัติตามสัญญา ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก คือ จันทบุรี ระยอง และตราด เป็นมณฑลจันทบุรี ครั้นปี พ.ศ. 2476 สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางรัฐบาลได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาลและจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดนับแต่นั้นมา
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น