วัดมังกรบุปผาราม(วัดเล่งฮัวยี่) เที่ยวจันทบุรี ไปกับตำนานมังกร
บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยๆในหนังจันกำลังภายใน อาจจะไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่นะครับ ไหนจะเล่าเรื่องราวของวัดจีนแล้วก็ขึ้นต้นให้เข้ากับสิ่งที่จะเล่าหน่อยนะครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องราวของวัดจีน ในจังหวัดจันทบุรี ที่นี่เป็นสถานที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ที่นี่มีนามว่า "วัดมังกรบุปผาราม(วัดเล่งฮัวยี่)"เมื่อไม่นานมานี้ข้าน้อย เอ้ย ! ผมได้มีโอกาสเข้าไปใน วัดมังกรบุปผาราม ไม่อยากบอกเลยว่าเป็นครั้งแรกเลยครับที่ได้ไปที่นี่(เสียหายเลยเป็นคนจันทบุรีแท้ๆ) ทำให้นึกถึงหนังจีนกำลังภายในและอยากรู้ที่มาของวัดนี้จึงได้ความมาว่า
ประวัติความเป็นมาของวัดมังกรบุปผาราม(วัดเล่งฮัวยี่)
วัดมังกรบุปผาราม มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า เล่งฮั้วยี่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2520 มีพื้นที่จำนวน 8 ไร่เศษ เป็นวัดในพุทธศาสนา มหายานฝ่ายจีนนิกาย มีประวัติเกี่ยวข้องกับ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ปฐมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ และวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) จังหวัดฉะเชิงเทรา
ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ท่านพระอาจารย์สกเห็งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรือง พระพุทธศาสนาจึงเดินทางเข้ามาเพื่อนมัสการปูชนียสถานในประเทศไทย เมื่อแรกที่ท่านเข้ามานั้นได้จำพรรษาอยู่ ณ วิหารพระกวนอิมข้างวัดกุศลสมาคร ชาวจีนในพระนครเห็นความเคร่งครัดในศิลาจารวัตรก็พากันเลื่อมใสจึงชวนกันเรี่ยไรเงินบูรณะเป็นอารามฝ่ายจีนนิกายชื่อ วัดย่งฮกยี่ ต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต” จึงเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จีนจำพรรษาตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีพระสงฆ์จีนมากขึ้น
ท่านพระอาจารย์สกเห็งเห็นว่า ควรจักขยับขยายวัดฝ่ายจีนนิกายให้กว้างออกไป ท่านได้เลือกชัยภูมิแห่งหนึ่งตรงบริเวณถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบฯ สร้างอารามใหญ่ขึ้น ทั้งนี้โดยพระบรมราชูปถัมภ์และการช่วยเหลือของพุทธบริษัทไทย-จีน ได้ชื่อทางภาษาจีนว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” ต่อมาพระอาจารย์สกเห็งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่าวัดมังกรกมลาวาส
ต่อมาพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) กับศิษย์ผู้หนึ่งชื่อ “พระกวยเล้ง” ได้ไปสร้างวัดเล่งฮกยี่ หรือ “วัดจีนประชาสโมสร” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และท่านเตรียมจะสร้างวัดเล่งฮั้วยี่ หรือวัดมังกรบุปผาราม ที่จังหวัดจันทบุรี อีกแห่งหนึ่ง โดยท่านได้จาริกมาจำพรรษาที่นี่ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2417
ซึ่งต่อมาพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ได้นำคณะพุทธศาสนิกชนชาวจีนเข้ารับเสด็จ และกราบทูลรายงานการก่อสร้างวัด เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสน้ำตกพลิ้ว ปีวอก พ.ศ. 2427 (มีปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภาค 24 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันออก)
แต่ต่อมาท่านพระอาจารย์สกเห็ง เกิดอาพาธถึงแก่มรณภาพเสียก่อน จึงเหลือแต่มงคลนามสำนักแห่งนี้ ซึ่งท่านได้ตั้งชื่อภาษาจีนว่า เล่งฮั้วยี่ ศิษย์ของท่าน คือ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (กวยล้ง) ได้ดำเนินการต่อ แต่ท่านพระอาจารย์กวยเล้ง ก็ได้มรณภาพลงเสียก่อน สำนักแห่งนี้จึงไม่สำเร็จตามโครงการที่วางไว้
หลังจากนั้นเป็นเวลา 80 ปีเศษ สำนักแห่งนี้รกร้างและมีหลักฐานเป็นที่ดินแปลงหนึ่งของธรณีสงฆ์ ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าน้ำตกพลิ้ว ด้วยเหตุที่การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน และยังชุกชุมด้วยไข้ป่า ทางราชการสมัยนั้น จึงได้ยกธรณีสงฆ์แห่งนี้ถวายวัดเขตต์นาบุญญาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ในสังกัดอนัมนิกายปกครองรักษาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันเหลือแต่มงคลนามของวัด
จนประมาณปี พ.ศ. 2508 ได้มีพระเจตชฎา ฉายาเย็นฮ้วง ศิษย์ของท่านพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย บังเกิดกุศลเจตนาที่จะสืบสานงานก่อสร้าง สำนักวัดมังกรบุปผาราม(เล่งฮั้วยี่) ให้สำเร็จตามเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ โดยท่านได้ปฏิบัติธรรมหาความวิเวกเดินตามแนวทางของท่านอาจารย์จีนนิกายในอดีต ณ บริเวณน้ำตกพลิ้ว อาศัยพุทธบารมีเป็นที่ตั้ง ด้วยความศรัทธามั่นคงของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดในการนำของอุบาสก-อุบาสิกา ได้แก่ 1.อึ้งชุงฮ้อกอี 2.จีนล่งเส็งอี 3.บ้วนแซอี 4.นายสำรอง จิตตสงวน 5.นายซ้อน ริผล จึงได้รวบรวมปัจจัย ทั้งด้านทุนทรัพย์และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและแรงงานเพื่อพระพุทธศาสนาได้จัดหาที่ดินแปลงหนึ่ง เป็นสถานที่ก่อสร้างวัดที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีความยินดีได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิสังขรณ์ก่อสร้างวัดมังกรบุปผารามขึ้นใหม่ แต่ต่อมาพระเย็นฮ้วง มรณภาพลงด้วยไข้มาเลเรีย เมื่อ พ.ศ. 2518 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายในครั้งนั้น จึงได้มีบัญชามอบภารกิจให้ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต(เย็นบุญ) เจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร ได้ดูแลนำพุทธศาสนิกชนร่วมสนับสนุนจนการก่อสร้างวัดได้สำเร็จลง
สถาปัตยกรรมเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างพุทธศิลป์ไทย-จีน ศิลปะแบบสถาปัตยกรรมจีนภาคใต้
ถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ของวัด
ด้านหน้าวัดมีซุ้มประตูวัด สร้างด้วยศิลปะจีน ลานหน้าวัดด้านนอกเป็นลานโล่งมีสนามหญ้า มีหอแปดเหลี่ยมเคียงคู่กันสองหลัง ที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสคและหินขัด เป็นลดลายต่าง ๆ สวยงาม
หอแปดเหลี่ยม หลังด้านซ้ายเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงจีนคณาณัติจีนพรต(เย็นบุญ) อดีตปลัดขวาจีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร และรักษาการเจ้าอาวาสวัดมังกรบุปผาราม ท่านเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างวัดได้สำเร็จลง มรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2526
หลังด้านขวาเป็นศาลาที่ระลึก พล.อ.กฤษณ์ ศรีวรา ซึ่งเป็นผู้ได้อุปถัมภ์การก่อสร้างวัดมังบุปผาราม
ด้านหน้าวัดเป็นวิหารท้าวจตุโลกบาล ด้านหน้าวิหารจารึกธารณีภาษาสันสกฤต อักษรสิทธัม ภายในประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์(หมี่เล็กผ่อสัก) พระโพธิ์สัตว์ผู้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ด้านหลังเป็นพระสกันทโพธิสัตว์(อุ่ยท้อผ่อสัก) และท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่(ซี่ไต่เทียงอ้วง)
อุโบสถ เป็นรูปทรงจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานสามพระองค์ เมื่อเราหันหน้าสู่ภายในอุโบสถ คือองค์กลางพระศากยมุนีพุทธเจ้า(เซ็กเกียหม่อนี้ฮุก) องค์ซ้ายพระอมิตาภพุทธเจ้า (ออมีท้อฮุก) องค์ขวาพระไภษัชยคุรุ พุทธเจ้า(เอี๊ยะซือฮุก) พร้อมด้วยพระสาวกเบื้องซ้ายและขวา คือพระมหากัสสปเถระ(เกียเหี๊ยะจุนเจี้ย) และพระอานนท์(ออหนั่งท้อจุนเจี้ย) ด้านข้างประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์(บุ่งซู่ผ่อสัก) ผู้เลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ทรงมีพระปัญญาคุณเลิศกว่าหมู่สรรพสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์(โผวเฮี้ยงผ่อสัก) ผู้เลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา อันหมายถึงบารมีหก ที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ รูปเคารพทั้งหลายปิดทองคำเปลวเหลืองอร่ามประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีนบนฐานชุกชี ภายในมีลวดลายไม้แกะสลักปิดทองแบบศิลปะจีนอย่างสวยงาม พื้นภายในเป็นหินขัดยอดหลังคาอุโบสถเป็นเจดีย์ พื้นอุโบสถด้านนอกเป็นหินขัดลายจีน
ด้านหลังอุโบสถเป็นวิหารสุขาวดีตรีอารยะ ภายในประดิษฐานพระปฏิมาพระอมิตาภพุทธเจ้า องค์ศาสดาแห่งสุขาวดีโลกธาตุปัจฉิมทิศ พร้อมด้วยพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(กวงซีอิมผ่อสัก) และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์(ไต่ซีจี่ผ่อสัก) มหาสาวกของพระองค์ แห่งสุขาวดีพุทธเกษตร จีงเรียกกันว่าพระตรีอารยะแห่งปัจฉิมทิศ(ไซฮึงชาเสี่ย) คือแดนสุขาวดีนั่นเอง ด้านข้างประดิษฐานรูปเหมือนพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็งมหาเถระ) ปฐมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ผู้สถาปนาวัดมังกรบุปผาราม ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรูปเหมือนพระอาจารย์เย็นฮ้วง ผู้พัฒนาวัดมังกรบุปผารามในสมัยต่อม
นอกจากนี้ยังมี วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(กวนซีอิมผ่อสัก) ปางสหัสรหัตถ์สหัสรเนตร (พระกวนอิมปางพันมือพันตา) วิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์(ตี่จั่งอ้วงผ่อสัก) วิหารบรรพบุรุษเป็นที่สาธุชนตั้งป้ายบูชาวิญญาณผู้ล่วงลับ และสถูปเจดีย์ทรงธิเบตที่บรรจุอัฐิบูรพาจารย์ด้านหลังวัด แวดล้อมด้วยหมู่กุฏิสงฆ์ โรงครัว โรงอาหาร ที่พักผู้ปฏิบัติธรรม เรียงรายอยู่โดยรอบอย่างเป็นระเบียบทางเดินภายในวัดส่วนใหญ่เป็นหิน
วัดมังกรบุปผาราม(วัดเล่งฮัวยี่) แห่งนี้มีงานประจำปีที่สำคัญ 2 งานคือ งานบุญกฐิน จะจัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลออกพรรษา และงานทำบุญประจำปีของวัด ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 21 วันมีประชาชนเดินทางมาร่วมทำบุญถือศีลและพำนักที่วัดตลอดช่วงการจัดงานนาน 7-10 วัน
การเดินทางมาเที่ยวชมวัดมังกรบุปผาราม ตั้งอยู่ที่ ถนนสุขุมวิท ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี 22130 โทร. 039-397210 เวลาให้บริการ : 06:00-18:00 ไม่เสียค่าเข้าชมนะครับ เป็นยังไงกันบ้างมีความวุขกับการเดินทางนะครับ
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น