วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

400 ปีกับตำนาน วัดเกวียนหัก จันทบุรี

400 ปีกับตำนาน วัดเกวียนหัก จันทบุรี


เรื่องที่เล่าต่อๆกันมานั้นหลายๆเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่เรื่องที่จะได้รู้ต่อไปนี้จะขอถือว่าเป็นตำนานเก่าแก่ของวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรีคือ "วัดเกวียนหัก" และก่อนที่จะได้ชื่อว่าวัดเกวียนหักแห่งนี้มีชื่อว่า วัดช่องลม ที่นี่เป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า 400 ปี เลยทีเดียวที่มาของความเก่าแก่มาจากอุโบสถของวัดที่มีรูปทรงและลวดลายซึ่งสร้างโดยช่างในสมัยอยุธยาโดยประมาณ พ.ศ. ที่สร้างไว้คือ พ.ศ. 2130

จากหลักฐานและคำบอกเล่ากันต่อๆมานั้น วัดเกวียนหักได้สร้างขึ้นภายหลังวัดตะปอนน้อยเป็นเวลาประมาณ 5 ปี ซึ่งใบเสมาอุโบสถวัดตะปอนน้อยสลักไว้ พ.ศ.2125 ประกอบกับมีหลักฐานบันทึกการรายงานประวัติวัดเกวียนหักต่อกรมศาสนาว่า ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดเมื่อ วันที่ 20 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2130 การบูรณะวัดเกวียนหักปรากฏหลักฐานว่า คุณพระจินดา พรหมฤทธิ์ (ตำแหน่งนายอำเภอขณะนั้น) ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้บนผนังอุโบสถหลังเก่าว่า

“พระจินดา มานะ สละหิรัญ ซื้อสุวรรณปิดพระทั้งสององค์ กับออกทรัพย์ซ่อมแซมอุโบสถ โดยกำหนดพันเศษตามประสงค์ ขอให้สมปรารถนา ปัญญายงค์ สมประสงค์ ปณิธาน นิพพานเอย” 

และยังได้มีตำนานเล่าขานกันอีกว่าวัดเกวียนหักนี้ได้สร้างก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2(พ.ศ.2310)  เสียอีก วัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2130 เล่าต่อกันมาว่าวัดเกวียนหักยังเคยเป็นที่พักของพระเจ้าตากสินครั้งยกทัพไปรบ มีหลักฐานเอกสารประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันทนุมาศ (เจิม) และจากการบอกเล่าของคนที่มีอายุมากที่สุดในชุมชน คือลุงวิเชียร แววสว่าง อายุ 85 ปี และลุงกูล บำรุงวงษ์ อายุ 80 กว่าปี ท่านทั้งสองเคยบวชสามเณรจนกระทั่งเป็นพระภิกษุจำพรรษา ณ วัดเกวียนหัก ตั้งแต่ท่านพ่อวัน(ท่านพระครูพิทักษ์สุตคุณ)เป็นเจ้าอาวาส จึงสามารถเล่าเรื่องได้ดี ท่านบอกว่า

"เมื่อครั้งหนึ่งมีพระสงฆ์มาจากพระนครพร้อมกับบันทึกเล่มหนึ่ง ท่านเดินทางมาตามถ้อยความที่บันทึกไว้ เพื่อตามหาร่องรอยของซากสิ่งของในบันทึก คือเกวียนที่หักตามบันทึกว่าฝังไว้ที่เชิงเขา หงส์ไม้ 1 ตัวลงรักปิดทอง และช้างไม้ 1 เชือก ปรากฎว่าได้พบหงส์ทำด้วยไม้ลงรักปิดทอง แต่อยู่ในสภาพเก่าแก่ชำรุดเพราะมีมอดกิน และพบช้างไม้ 1 เชือก แต่ไม่พบเกวียนที่หักที่ฝังไว้เชิงเขา ในบันทึกกล่าวว่าเกวียนที่หักเป็นเกวียนในกองทัพพระเจ้าตากสิน ที่บรรทุกดินหู (ดินปืน) มาถึงเชิงเขา(ตีนเขา)แล้วเกวียนได้หักจึงฝังเกวียน ณ เชิงเขานั้นในการเดินทัพผ่าน มีร่องรอยการพักทัพของกองทัพพระเจ้าตากสิน คือมีการขุดพบพระยอดธงจำนวนหนึ่งที่มากพอสมควรทำด้วยดิน ต่อมาชำรุดเสียหายเพราะการเก็บรักษาไม่ถูกวิธีและสระน้ำโบราณที่เชื่อกันว่าพระเจ้าตากสินขุดให้กองทัพดื่มและใช้ ซึ่งสระนี้ยังคงอยุ่และใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณกาลแล้วมีน้ำตลอดปี อีกทั้งมีร่องรอยของร่องนำน้ำลึกติดต่อกับทะเลที่เรือใหญ่สามารถเข้ามาถึงหน้าวัดเกวียนหักได้ ปัจจุบันกลายเป็นคลองเล็กๆที่มีน้ำทะเลไหลเข้ามาได้และอยู่ใกล้สระแห่งนี้ ในอดีตสระน้ำนี้เคยเป็นแหล่งน้ำที่ชุมชนหนองชิ่มและเขาน่องโกรน และที่อื่นๆอื่นๆ วิ่งเรือมาบรรทุกน้ำที่สระนี้ไปใช้กัน"

จากตำนานที่เล่าขานชุมชนนี้จึงมีชื่อว่า “เกวียนหัก” และต่อมาวัดช่องลม ก็เปลี่ยนชื่อเป็นวัดเกวียนหักด้วย

ดู วัดเกวียนหัก ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

สิ่งที่น่าสนใจศึกษาและควรค่าแก่การอนุรักษ์ของวัดเกวียนหักก็คือ โบราณสถานที่เก่าแก่มีอายุกว่า 400 ปี คืออุโบสถหลังเก่าที่แสดงถึงศิลปะและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระอุโบสถวัดเกวียนหักมีขนาดเล็ก ด้านหน้าประตูเข้าอาคารอุโบสถมีสองบาน ผนังด้านหลังไม่มี แต่กลับปรากฎว่าประตูหลังสองบานผนังด้านข้างชิดไปทางผนังหุ้มกลองด้านหลัง หน้าต่างด้านข้างมีจำนวนข้างละ 2 บาน ซึ่งเป็นแบบแผนอยุธยาตอนกลาง มีเจดีย์กลมตั้งอยู่ด้านหน้าเยื้องไปทางซ้ายมือของอาคาร ผนังด้านในมีภาพเขียนฝาผนังแต่ลบเลือนไปมากมองได้ไม่ชัดเจน ยังรอการบูรณะจากกรมศิลปากรอยู่ นอกจากนี้ที่วัดเกวียนหักนี้มีโบราณวัตถุที่สำคัญคือธรรมมาสน์ ชนิดไม้ลงรักปิดทอง ศิลปะรัตนโกสินทร์

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น